ทางเลือกสู่การปฏิรูปการศึกษา - โรงเรียนเพลินพัฒนา ,โรงเรียนทางเลือก

หน้าแรก
ข่าวประชาสัมพันธ์
เครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
สรุปงานสัมมนาและเสวนา

ปฏิทินโรงเรียน
      
ทางเลือกสู่การปฏิรูปการศึกษา พิมพ์ อีเมล
  ทางเลือกสู่การปฏิรูปการศึกษา

     เมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่โรงแรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ผู้อำนวยการโรงเรียนกลุ่มกัลยาณมิตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนชายขอบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสังกัด สพฐ.
 
     ที่จับมือเป็นเครือข่ายพัฒนาร่วมกัน และผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต ๒ ราว ๙๐ โรงเรียน มีนักเรียนรวมกันประมาณสองหมื่นคน ทั้งโรงเรียนประถม (ปฐมวัยถึง ป.๖) โรงเรียนขยายโอกาส (ปฐมวัยถึง ม.๓) และโรงเรียนมัธยม (ม.๑ ถึง ม.๖) ร่วมกันทำข้อตกลงกับมูลนิธิคนไทยเก่งขึ้น ซึ่งมี คุณทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นประธานมูลนิธิฯ ร่วมจับมือเป็นเครือข่ายในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในบางสาระที่สำคัญด้วยตนเอง โดยไม่ต้องคอยการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้สิ่งที่ต้องการให้เกิด สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดด้วยงบประมาณเดิม ครูเดิม และครูไม่มีภาระเพิ่มขึ้นมากนัก เพียงแต่ใช้กระบวนการ (process) และสื่อที่เหมาะสมเท่านั้น
 
     
     ขณะเดียวกัน ได้ให้ครูแกนนำในส่วนที่เกี่ยวข้องของแต่ละโรงเรียนราว ๔๐๐ คน มาทำความเข้าใจแนวคิดของความร่วมมือนี้ และทำ workshop เพื่อให้เข้าใจกระบวนการและการใช้สื่อที่มูลนิธิจัดเตรียมให้ทั้งหมดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับโครงการระยะแรก จะเน้นการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสาร และใช้งานได้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญให้ได้ภายในระยะเวลา ๑ ปี ทั้งในระดับประถม และมัธยม การพัฒนาความสามารถในการอ่าน และเขียนภาษาไทยแบบมีทิศทางให้สอดคล้องกับขีดความสามารถที่ต้องการในศตวรรษที่ ๒๑ ในระดับประถม (โดยผ่านกระบวนการส่งเสริมการอ่านที่ถูกวิธี การให้นักเรียนสนุกกับการค้นหาความรู้และประมวลความรู้ด้วยตนเอง การคิดวิเคราะห์ การเขียน และย่อความ) และการซ่อมเสริมนักเรียนมัธยมเป็นรายบุคคลในทุกวิชาที่ขาดแคลน
 
       ในการนี้ มูลนิธิคนไทยเก่งขึ้น จะเข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณทั้งหมด ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม กระบวนการ และสื่อ ที่ส่วนใหญ่ผ่านการทดลอง และวิจัยมาแล้วว่าได้ผลสูง และจะอบรมต่อเนื่อง ติดตามผล และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาร่วมกันต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ๓ ปี โดยมั่นใจว่า หากโรงเรียนเหล่านี้ทำตามกระบวนการนี้อย่างจริงจัง จะช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์หลายด้านให้ดีขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญ
     
     ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ จะช่วยรักษานักเรียนให้ไม่ต้องดิ้นรนไปเรียนในตัวเมือง โดยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลง ซึ่งจะช่วยลดภาระของผู้ปกครองจำนวนมากได้
 
     นอกจากนั้น ยังได้มีการทำ Workshop วิชา “นักออกแบบนวัตกรรม” ซึ่งเป็นการพัฒนานักเรียนตั้งแต่ประถม ๒ ขึ้นไป จนถึงมัธยมต้น ผ่านแนวคิด One Child One Robot ซึ่งเป็นแนวคิดที่รองรับ STEM Education ที่นำร่องให้เด็กไทยกล้าที่จะทดลองทำอะไรด้วยตนเองจนสำเร็จ มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าลองผิดลองถูกอย่างมีวิจารณญาณ รู้จักการแก้ปัญหา และตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งหากมีการต่อยอดอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต มี productivity ที่ดีขึ้นในทุกสาขาวิชาชีพ นำไปสู่นวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการ SME ในท้ายที่สุดได้  
     
จุดเริ่มต้นของการลงนามในข้อตกลง และการจัด workshop ครั้งนี้

     สำหรับกลุ่มกัลยาณมิตร เริ่มมาจากที่คุณทนงได้มีโอกาสเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในวง line ทางด้านการศึกษาวงหนึ่ง ว่าโรงเรียนสามารถเริ่มต้นสร้างผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ด้วยตนเอง โดยใช้งบประมาณเท่าเดิม ใช้ครูคนเดิม ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนส่วนหนึ่งในวงนั้นได้รับการจุดประกาย และเกิดความศรัทธากับแนวคิดนี้ จึงขอให้คุณทนงช่วยเป็นครูใหญ่ให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนชายขอบที่สนใจมารวมกลุ่มกันเป็น “กลุ่มกัลยาณมิตร” โดยขอให้คุณทนงช่วยเล่ารายละเอียดของแนวคิดให้ฟังในตอนเย็นวันหนึ่งกับกลุ่มแกนนำประมาณยี่สิบคน
 
     หลังการบรรยาย กลุ่มนี้รวมตัวกันได้ ๕๐-๑๐๐ โรงเรียนเป็นเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันได้ จึงให้มูลนิธิคนไทยเก่งขึ้น เข้ามาให้ความช่วยเหลือเต็มที่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เป็นรูปธรรม
 
     หลังการบรรยาย กลุ่มนี้รวมตัวกันได้ ๕๐-๑๐๐ โรงเรียนเป็นเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันได้ จึงให้มูลนิธิคนไทยเก่งขึ้น เข้ามาให้ความช่วยเหลือเต็มที่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เป็นรูปธรรม

     หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน กลุ่มนี้ก็เริ่มต้นทำงานรวบรวมผู้อำนวยการโรงเรียนที่รู้จักกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความตั้งใจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อนักเรียน จนได้มากพอ จึงกำหนดวันลงนามในข้อตกลงการทำงานร่วมกันในวันที่ ๑๑-๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นเวลาเพียงไม่ถึงเดือนหลังการจุดประกายความคิด !
 
     
     ส่วนการเข้าร่วมของกลุ่มโรงเรียนในจังหวัดเพชรบูรณ์ เขต ๒ เกิดจากอาจารย์นิคม เขียวฉ่ำ ท่านผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบูรณ์ เขต ๒ ได้มีโอกาสฟังการเสวนาโดยคุณทนงเป็นวิทยากร เรื่อง “ทิศทางการจัดการศึกษาพิเศษไทย ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” จัดที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเมื่อวันอังคารที่ ๒๓ กันยายน ๕๗ จัดโดยสำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. แล้วเกิดความประทับใจ และได้มีโอกาสพบกับคุณทนงขณะเดินชมบูธผลงานของโรงเรียนต่างๆ ที่มี Best Practice เรื่องการศึกษาพิเศษ ท่านผู้อำนวยการนิคม ทราบเรื่องความร่วมมือกับกลุ่มกัลยาณมิตรนี้ จึงแสดงความสนใจอย่างมาก และขอเข้าร่วมด้วย โดยท่านเรียกประชุมผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดของท่าน แล้วเล่าเรื่องโครงการนี้ และขอให้ยกมือว่าโรงเรียนใดสนใจบ้าง
 
     ในที่สุดได้โรงเรียนที่มาขอเข้าร่วมโครงการ ๓๘ โรงเรียน และมาขอสังเกตการณ์อีก ๒๒ โรงเรียน (เพราะเต็มแล้ว) ท่านอาจารย์นิคม อยู่ร่วมการจัด workshop ตลอดทั้งสองวัน
 
     
การเรียนรู้ในช่วงชั้น
   

เทศกาลประจำปี



 
โรงเรียนเพลินพัฒนาได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์กรมหาชน) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๗

โรงเรียนเพลินพัฒนา 33/39-40 ถ.สวนผัก แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทร.028852670-5 แฟกซ์ ต่อ 502 [email protected]
ค่า GPS : wgs84(x,y)(100.387720,13.787389),wgs84(พิกัด) E100,23,51.8 N13,47,14.6
สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ. 2547-2554 ทั้งภาพและเนื้อหาโดยโรงเรียนเพลินพัฒนา