 |
|
สพฐ. สังเกตการณ์ห้องเรียน Robot
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ คณะทำงานจากสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าสังเกตการณ์ชั้นเรียน “หุ่นยนต์ ” ของนักเรียนชั้น ๗ ในหน่วยวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี |
|
ด้วยเล็งเห็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นประโยชน์จึงขอทำวิจัยและร่วมทำหลักสูตรกับโรงเรียนเพลินพัฒนา เพื่อพัฒนาให้เกิดหลักสูตร STEM นำร่องเป็นหลักสูตรต้นแบบให้อีก ๓๐,๐๐๐ โรงเรียนได้เลือกไปใช้ตามบริบทของแต่ละแห่ง |
|
แนวคิด STEM Education มาจากการบูรณาการระหว่าง S = Science (วิทยาศาสตร์) T = Technology (เทคโนโลยี) E = Engineering (วิศวกรรม) และ M = Mathematics (คณิตศาสตร์) ซึ่งจะทำให้ ได้เรียนรู้ถึงการประยุกต์ใช้วิชาต่างๆ ที่เรียนมาในภาคปฏิบัติ รู้ถึงประโยชน์ของความรู้ และสิ่งที่ได้เรียนมาอย่างเข้าถึง โดย “หุ่นยนต์” ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งของแนวคิดดังกล่าวนี้ที่ช่วยในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking Skill) ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill) และทักษะการตัดสินใจ (Decision Making Skill) ตลอดจนมุมมองด้านนวัตกรรม (Innovative Vision) ในรูปแบบของ Problem Based Learning ได้เป็นอย่างดี |
|
“ประเทศไทยยังมีความต้องการการส่งเสริมด้านนวัตกรรมอีกมาก เด็กเรายังขาดความความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หุ่นยนต์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่รองรับแนวคิด STEM Education ที่ช่วยฝึกให้เด็กตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ ได้ลองทำโจทย์ด้วยตัวเอง ต้องมีการจับต่อ รู้จักการขันน็อต รู้จักเฟือง ลองผิดลองถูก ได้ตัดสินใจแก้ไขปัญหา รวมทั้งการออกแบบ โดยมีระดับความยากง่ายให้เด็กได้สนุกท้าทาย จึงเกิดแรงบันดาลใจ และสิ่งสำคัญเป็นการฝึกให้เด็กได้ลองทำด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งยังช่วยฝึกทักษะชีวิต การทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้เรียนรู้การเป็นผู้นำผู้ตาม |
|
เมื่อนำมาบรรจุอยู่ในหน่วยวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เด็กทุกคนจึงได้ผ่านกระบวนการนี้ ภายใต้เวลา งบประมาณ และบุคลากรที่มีจำกัด เพราะหุ่นยนต์สามารถใช้ซ้ำได้ โดยการสอนของครูคนเดิมที่สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ไม่ยากในชั่วโมงเรียนปกติ ซึ่งหากมีการต่อยอดอย่างเหมาะสม จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต มี productivity ที่ดีขึ้นในทุกสาขาวิชาชีพ นำไปสู่นวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการ SME ได้ ” คุณทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนาร่วมพูดคุย |
|
|