คลื่นลมกับเรือใบ... สู่สมดุลกายใจและความคิด |
|
|
“ค่ายเตรียมความพร้อม คลื่นลมกับเรือใบ... สู่สมดุลกายใจและความคิด”
|
 |
|
“ การแล่นเรือใบไม่เพียงเป็นกีฬาที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงด้านร่างกายเท่านั้น หัวใจสำคัญ คือการได้เรียนรู้และฝึกความรับผิดชอบ วินัย ความกล้าหาญ ปฏิภาณไหวพริบ เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อต้องเผชิญกับคลื่นลมที่เกิดจากปัจจัยภายนอก และการต่อสู้กับจิตใจภายในเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคหรือข้อจำกัดของตัวเอง โดยครูจะคอยตามดูอยู่ห่างๆ คอยแนะนำ และช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น กีฬาเรือใบสามารถพานักเรียนไปถึงหัวใจสำคัญเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ” คุณครูภัทรพงศ์ บำรุงรัตน์ (ครูม๊อบ) คุณครูวิชาแนะแนว และครูประจำชั้น 10 สะท้อนหลังจากได้ร่วมเดินทางดูแลนักเรียนใน “ค่ายเตรียมความพร้อม คลื่นลมกับเรือใบ... สู่สมดุลกายใจและความคิด” ณ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 13 - 17 พฤษภาคม 2562 |
|
ติดตามเรื่องราวสนุกๆ จากครูม๊อบได้เลยค่ะ
ในสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษาใหม่ นักเรียนช่วงชั้นมัธยมในแต่ละระดับชั้นจะเข้าร่วมกิจกรรมที่เรียกว่า “ค่ายเตรียมความพร้อม” ที่ครูประจำชั้นได้จัดขึ้น ซึ่งกิจกรรมในแต่ละระดับมีความแตกต่างกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมนักเรียนในด้านต่าง ๆ ก่อนเริ่มเรียนในสัปดาห์ถัดไป โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนได้พัฒนาความสัมพันธ์ทั้งกับเพื่อนและคุณครู พัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะด้านอารมณ์ และทักษะอื่นๆ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในโรงเรียนอีก 1 ปีการศึกษา
|
|
ค่ายเตรียมความพร้อมของนักเรียนชั้น 10 เริ่มขึ้นเมื่อครูนัดหมายกับนักเรียนในวันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 6.45 น. ที่โรงเรียน บรรยากาศเมื่อนักเรียนมาถึง ทุกคนต่างแบกสัมภาระของตนเองมาจุดลงทะเบียน ทักทายครูและเพื่อน ๆ สีหน้ายิ้มแย้ม พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องพบเจอ |
|
|
“ครูคะ ครูจัดห้องนอนแบบไหนคะ?” “ผมอยากนั่งรถกับเพื่อนอะ” “ทริปชั้นเรา มีครูไปด้วยกี่คนคะ?” |
|
|
บทสนทนาของนักเรียนส่วนใหญ่ในเช้าวันนั้น ยังคงไม่เกี่ยวกับการฝึกเรือใบที่พวกเขาจะได้พบเจอในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า จากนั้นไม่นานเมื่อทุกคนมาครบ ทุกอย่างพร้อม จึงออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ อ. สัตหีบ เพื่อเริ่มต้นค่ายเรือใบในปีนี้อย่างเป็นทางการ |
|
ในช่วงระหว่างการเดินทางมีฝนตกลงมาบางช่วง ทำให้ทีมครูเกิดความกังวลถึงการฝึกเรือใบที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ แต่เมื่อไปถึงที่พัก เรือนรับรองกองเรือยุทธการ สภาพอากาศก็กลับมาเป็นปกติ ครูให้นักเรียนเก็บสัมภาระเข้าที่พัก เปลี่ยนชุดสำหรับฝึก รับประทานอาหารกลางวัน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มฝึกในช่วงบ่าย ในระหว่างการรับประทานอาหารกลางวัน บทสนทนาของนักเรียนเริ่มเปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการฝึกเรือใบมากขึ้น |
|
|
ทำไมต้องมาค่ายเรือใบ? ใครเป็นคนต้นคิดให้มาค่ายเรือใบ? ทำไมเราไม่ฝึกกีฬาอย่างอื่น? |
|
|
คุณครูไม่ได้ให้คำตอบแก่นักเรียนในทันที โดยหวังว่าคำตอบนี้จะชัดเจนขึ้นเมื่อนักเรียนได้ฝึกฝนตนเองจากกิจกรรมต่าง ๆ ตลอด 5 วันต่อจากนี้
|
|
เมื่อช่วงบ่ายมาถึงทุกคนเดินไปยังสถานที่ฝึกคือ สมาคมแข่งเรือใบ ได้พบกับทีมครูฝึกเป็นครั้งแรก นำทีมโดย ครูเหน่ง (พันจ่าเอก ธีระพงษ์ วาติบุญเรือง) วันนี้ครูฝึกเริ่มด้วยภาคทฤษฎีเกี่ยวกับการแล่นเรือใบเบื้องต้นให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับ องค์ประกอบต่าง ๆ ของเรือใบ การเตรียมเรือ การประกอบเสากระโดง การฝึกผูกเชือกในจุดต่าง ๆ การดูทิศทางของลม จากนั้นไม่นานเมื่อครูฝึกประเมินสภาพอากาศ จึงตัดสินใจให้นักเรียนลงสนามจริง ซึ่งเกิดจากที่มีนักเรียนหลายคนถามครูฝึกว่า “วันนี้จะได้ลงทะเลหรือเปล่าครับ” ครูฝึกจึงให้นักเรียนออกไปประกอบเรือของตนเองโดยแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 คน ต่อเรือ 1 ลำ โดยมีครูฝึกคอยชี้แนะและช่วยเหลือในระหว่างการประกอบเรือ |
 |
 |
|
|
เมื่อเรือทุกลำประกอบเสร็จเรียบร้อย จากนั้นก็ถึงเวลาพาเรือใบโลดแล่นออกจากฝั่ง โดยเริ่มจากการแล่นเรือใบโดยมีครูฝึกประกบไปด้วยกันในเรือแต่ละลำ และไม่น่าเชื่อ… “ความเป็นเด็กเพลิน” ธรรมชาติชอบเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการลงมือปฏิบัติ ทำให้การแล่นเรือในวันแรกนี้ ครูได้เห็นทักษะการแล่นเรือใบของนักเรียนหลายคน ที่เรียกได้ว่าเข้าขั้น “ดีมาก” เลยทีเดียว นักเรียนทุกคนเรียนรู้และทำได้ดีมาก ๆ ช่วงแรกอาจทุลักทุเลบ้าง แต่ช่วงท้ายๆ นักเรียนก็เริ่มมั่นใจ ดูนิ่งขึ้น ทุกคนมีความตั้งใจ มีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด โดยครูฝึกคอยเพิ่มโจทย์การเรียนรู้เพื่อฝึกฝนทักษะการแล่นเรือใบและท้าทายมากขึ้น เช่น การให้แล่นเรืออ้อมทุ่นที่นักเรียนต้องแล่นเรือใบในทิศทางที่ลมปะทะหลากหลายด้าน ถ้าเรือล่มก็ต้องกู้เรือเอง พลิกเรือเอง นักเรียนทั้งชาย และหญิงต่างมีสีหน้าแววตามุ่งมั่นตั้งใจไม่แพ้กัน การฝึกวันแรกจบลงด้วยความสนุกสนาน |
|
การฝึกในแต่ละวันจะมีบททดสอบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความท้าทายและฝึกทักษะการแล่นเรือใบของนักเรียนให้มีความชำนาญมากขึ้น อีกทั้งมีการเพิ่มระยะทางในการแล่นเรือใบไกลขึ้น ซึ่งครูฝึกคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด |
|
เมื่อเข้าสู่วันที่ 3 ของการฝึก นักเรียนเรียกการฝึกวันนี้ว่า “วันซ้อมใหญ่” เนื่องจากวันถัดไปเป็นการแล่นเรือใบทางไกล สภาพอากาศในวันนี้แดดค่อนข้างแรง มีลม เหมาะแก่การแล่นใบเป็นอย่างมาก โดยในวันนี้เป็นการแล่นใบอ้อม “ทุ่นหมายเลย 8 ” ซึ่งห่างออกไปจากแรมป์อ่าวดงตาลประมาณ 3 - 4 กิโลเมตร ภารกิจของนักเรียนคือต้องแล่นเรือไปอ้อมทุ่นนี้ให้ได้ ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อน กลางทะเล บางลำมีบัดดี้แล่นไปด้วยก็มีการเปลี่ยนบทบาทในการเป็นผู้บังคับและผู้นำทางช่วยกัน แต่บางลำต้องแล่นคนเดียว แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกลางทะเลคนเดียว กู้เรือที่ล่มด้วยตัวเอง หลังจากอ้อมทุ่นได้แล้วนักเรียนต้องแล่นเรือใบกลับ (Running) เป็นการแล่นตามลม ซึ่งนักเรียนจะเรียกกันว่า “ขา Run” เป็นช่วงที่ทุกคนจะเจอกับอากาศที่ร้อนมาก เนื่องจากเป็นการวิ่งตามลม ครูเห็นสีหน้าที่แสดงออกถึงความเหนื่อยของนักเรียนทุกคน แต่ก็สามารถที่จะแล่นเรือจนกลับถึงที่หมายได้ในที่สุด… ในวันนี้ถือว่าเป็นอีกวันที่ค่อนข้างหนักและเหนื่อยมาก นักเรียนได้อยู่กับตนเอง เห็นความแตกต่างจากการแล่นเรือใน ๒ วันก่อนหน้านี้ และเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการแล่นเรือใบทางไกลในวันถัดไป |
|
สิ่งที่ครูสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างในวันนี้คือ บทสนทนาส่วนใหญ่หลังจากกลับขึ้นฝั่ง ต่างเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแล่นเรือใบที่ผ่านมา คุยเกี่ยวกับทิศทางลม แนะนำเพื่อนในการบังคับเรือ อธิบายวิธีการดึงใบ… ปล่อยใบ… รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ที่ตนเองได้ไปเจอมาบนเรือใบเมื่อช่วงบ่าย และเป็นการพูดคุยด้วยใบหน้าที่เห็นถึงความสนุกสนานของแต่ละคน… |
|
อีก 1 วันสำคัญของค่ายเรือใบในครั้งนี้ คือ การแล่นเรือใบทางไกล ทุกคนต้องตื่นเช้า จัดการภารกิจส่วนตัวและไปเจอกันที่สมาคมเวลา 8.30 น. เพื่อเริ่มประกอบเรือด้วยตนเองให้เสร็จภายในเวลา 9.00 น. วันนี้นักเรียนสามารถประกอบเรือได้ด้วยตนเองมากขึ้น ครูฝึกเข้ามาช่วยน้อยลง และเห็นถึงการช่วยเหลือกันในการประกอบเรือมากขึ้น หลังจากนั้นครูฝึกเรียกรวมเพื่ออธิบายเส้นทางในการแล่นเรือในวันนี้ โดยจะแล่นเรือไปอ้อม เกาะพระน้อย และมุ่งหน้าไปสู่ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เพื่อรับประทานอาหารกลางวันที่นั่น ก่อนจะแล่นเรือใบกลับ ระยะทางทั้งหมดเกือบ 10 กม. สภาพอากาศวันนี้ถือว่าค่อนข้างดี แดดและลมไม่แรงมาก ทำให้นักเรียนสามารถที่จะแล่นเรือใบไปถึงเป้าหมายได้ครบตามเวลาทุกลำ ครูฝึกและครูประจำชั้นที่อยู่บนเรือยาง คอยขับเรือยางตรวจดูนักเรียนในแต่ละลำ บันทึกภาพเรือใบที่ค่อย ๆ แล่นมาตามเส้นทาง เห็นถึงความพยายามและตั้งใจของนักเรียนในวันนี้เป็นอย่างมาก จนครูฝึกเอ่ยปากชมว่า “ฝึกมา 3 วัน แต่ความสามารถเหมือนเด็กมหาวิทยาลัยที่มาฝึกเลยครับ” ภาพนักเรียนที่กำลังแล่นเรือใบในวันนั้นเป็นภาพที่น่าประทับใจอีกเหตุการณ์หนึ่งในค่ายเรือใบครั้งนี้ |
|
หลังจากเก็บเรือกิจกรรมในช่วงเย็นของวันนี้คือการสะท้อนความรู้สึก บอกเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ หลังฝึกมาตลอด ๔ วัน ผ่านการเขียนไดอารี่ในสมุดภาคสนาม นักเรียนหลายคนเขียนเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ดี มีการเล่าถึงความยากลำบากในการบังคับเรือเมื่อมีลมแรง เล่าถึงสภาพอากาศที่ร้อน หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่นักเรียนประทับใจจากการที่เพื่อนเข้ามาช่วยประกอบเรือ และช่วยกันดึงเรือใบขึ้นแรมป์ บางคนเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนเองได้ทำจิตอาสาในการแล่นเรือเก็บขยะที่ลอยมาในทะเล “หนูภูมิใจมากเลยครู” คำพูดของนักเรียนที่กลับขึ้นมาจากทะเลพร้อมเรือที่เต็มไปด้วยขยะที่เก็บกลับมาจากทะเล นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเหตุการณ์และหลายความรู้สึกที่นักเรียนได้บันทึกลงในไดอารี่ส่วนตัวในคืนนั้น |
เช้าวันสุดท้ายของการฝึก นักเรียนต้องตื่นเช้ากว่าทุกวันเพื่อเก็บสัมภาระจากที่พักและนำไปไว้ที่สมาคมเพื่อเตรียมพร้อมที่จะกลับในช่วงบ่าย นักเรียนเริ่มประกอบเรือเพื่อให้เสร็จทันเวลา 9.00 น. จากนั้นเข้าไปฟังอธิบายการแล่นใบในวันนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของการฝึก นั่นก็คือ “การแข่งขันเรือใบ” โดยครูฝึกได้อธิบายกติกาการแข่งขัน |
|
นักเรียนจะต้องแล่นเรือไปอ้อมทุ่นที่ครูฝึกได้วางไว้ ทั้งหมด 2 รอบ โดยแบ่งนักเรียนเป็นทั้งหมด 2 กลุ่มๆ ละ 9 คน และนักเรียนจะต้องเจอกับโจทย์อีกหนึ่งอย่างคือ การแล่นเรือคนเดียว หลายวันที่ผ่านมามีนักเรียนหลายคนที่แล่นเรือใบกับเพื่อน 2 คน แต่ในวันนี้จะต้องแล่นเรือคนเดียว นักเรียนหลายคนเกิดความกังวล มาขอร้องครูให้แล่น 2 คน แต่ครูฝึกก็ใจแข็ง เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกอย่างแท้จริง และเป็นการประเมินนักเรียนตลอดระยะเวลา 4 วันที่ผ่านมาอีกด้วย |
|
บรรยากาศในวันแข่งขันเป็นไปด้วยความตื่นเต้น วันนี้ลมค่อนข้างแรง และมีแดด นักเรียนกลุ่มแรกถูกเรียกตัวให้นำเรือออกเข้าสู่จุดเริ่มต้นกลางทะเล โดยที่มีเพื่อนที่รอแข่งอีกกลุ่มหนึ่งนั่งให้กำลังใจอยู่ที่แรมป์ นักเรียนที่ลงแข่งกลุ่มแรกมีความมุ่งมั่นตั้งใจมาก และพยายามในการบังคับเรือให้ไปตามเส้นทางที่ครูฝึกได้วางทุ่นไว้ กลุ่มแรกจบลงด้วยคำชมของครูฝึกว่าสามารถใช้ทักษะที่เรียนมาทั้ง 4 วันมาแก้ปัญหาในวันนี้ได้ดี |
|
กลุ่มที่ 2 ขึ้นเรือยางและออกไปกลางทะเลเพื่อเปลี่ยนกับกลุ่มแรก ทั้งหมดของกลุ่มนี้เป็นเด็กผู้หญิง หลายคนมีความกังวล กลัวว่าจะไม่สามารถบังคับเรือคนเดียวได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถึงแม้จะมีเรือหลายลำที่ล่มระหว่างการแข่งขัน นักเรียนก็สามารถที่จะกู้เรือเอง ไม่ว่าจะกี่รอบ และยังคงอยู่ในการแข่งขันได้จนจบ บางลำที่ล่มอาจจะไม่สามารถกู้ได้เองก็มีครูฝึกคอยลงไปช่วยให้สามารถแข่งขันต่อได้ |
|
หลังจบการแข่งขันและขึ้นมาบนเรือยาง นักเรียนต่างสะท้อนและพูดคุยกันอย่างออกรสออกชาติเกี่ยวกับการแข่งขันที่เพิ่งผ่านไป หลายคนบอกวันนี้คือ “ของจริง” ทั้งลมที่แรง และต้องแล่นเรือคนเดียว บังคับไปในทิศทางที่ครูฝึกวางไว้ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง ฉะนั้นจึงถือว่าวันนี้เป็นวันที่นักเรียนได้แสดงทักษะที่ฝึกฝนมาอย่างเต็มที่ และเป็นวันที่ครูได้เห็นพัฒนาการในหลาย ๆ ด้านของนักเรียนจากการที่ได้ฝึกฝนตลอดการเข้าค่ายทั้ง 5 วัน |
|
|
“ถ้ามีโอกาส พานักเรียนมาค่ายระดับ Advanced ได้นะครับครู” |
|
|
ครูฝึกได้บอกกับครูประจำชั้นหลังจบกิจกรรมมอบเกียรติบัตร ก่อนที่นักเรียนจะเก็บสัมภาระขึ้นรถและเดินทางกลับโรงเรียน… |
|
…ตลอดระยะเวลา ๕ วันที่อยู่ในค่าย มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนไป ทั้งบทสนทนาของนักเรียน ทักษะเรือใบ ความรับผิดชอบ ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มที่สนิทกันมากขึ้น เป็นผลมาจากการอยู่ร่วมกันและช่วยเหลือกัน ความเห็นอกเห็นใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การอยู่กับตัวเอง หรือแม้กระทั่งความคิดเกี่ยวกับกีฬาเรือใบ นักเรียนบางคนเริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมจากการที่ตนเองได้แล่นเรือเก็บขยะกลางทะเล ก่อนที่จะขึ้นฝั่งมาเล่าให้ครูฟังด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ลงมือทำจิตอาสาครั้งนั้น หรือในเรื่องความอดทน “การมาค่ายครั้งนี้ได้ฝึกความอดทน เพราะในบางครั้ง…บางอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เราวางแผนหรือตามที่ใจเราต้องการ…” ข้อความในสมุดภาคสนามของนักเรียนคนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการได้เรียนรู้เรื่องของความอดทนผ่านการฝึกแล่นเรือใบในครั้งนี้ และเมื่อค่ายนี้จบลงหลายคนคงได้คำตอบแล้วว่าทำไมต้องเป็น “เรือใบ” |
|
|