|
เรื่องเล่าศิษย์เก่าเพลินพัฒนา : เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง
|
|
"การเกษตร" เรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน กลับเป็นเรื่องไกลตัวมากขึ้นเมื่อโลกอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่ แต่สำหรับใครบางคนเขากลับมองว่าการเกษตรไม่ใช่แค่การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แต่มันคือ "วิถีชีวิต" จึงแบ่งเวลาเพื่อมาทำการเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง "บิ้ว - นิพิฐพนธ์ ทองพันธุ์" ศิษย์เก่าเพลินพัฒนารุ่นที่ ๘ เจ้าของแนวคิดดังกล่าว ขณะนี้ศึกษาต่อ ม.ธรรมศาสตร์ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา หลักสูตรนานาชาติ (GSSE) ชั้นปีที่ ๒ ... เขา "คิด" และ "ทำ" อย่างไรพาไปพูดคุยกับบิ้วท์กันค่ะ จากแรงบันดาลใจสู่การลงมือทำ เริ่มต้นได้อย่างไร |
|
จริงๆ เริ่มจากความเบื่อครับ เบื่อการเรียนในห้อง เบื่อที่ต้องมานั่งจำโน่นนี่นั่น ตอนนั้นคิดว่าเด็กคนหนึ่งต้องรู้ขนาดนี้เลยเหรอ เรียนแล้วก็ลืม เห็นหลายคนเครียดกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งก็ไม่ผิดครับ แต่สำหรับผมรู้สึกว่าแข่งขันกันเยอะไป แข่งไปทำไมก็ไม่รู้ บางคนเครียดกันตั้งแต่ประถม เริ่มรู้สึกว่ามากเกินไป เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา รู้สึกว่าชีวิตวัยเด็กควรทำอะไรมากกว่านี้นอกเหนือจากการเรียนในห้อง รู้สึกเราไม่ได้อยู่กับตัวเองเลย เอาแต่หาความรู้ข้างนอก รู้หลายอย่างแต่ "ไม่รู้ใจตัวเอง" |
|
เห็นหลายคนไม่ได้มีแรงบันดาลใจหรือ passion ในการเรียนเลย รู้สึกว่าเราเรียนเยอะไป (ถ้าเทียบกับคนอื่นคือน้อยมาก) รู้สึกไม่ได้ใช้ชีวิต "จริงๆ" . จากนั้นก็เลยมีความคิดว่าอยากลองใช้ชีวิตง่ายๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ชอบแนวคิดของ "โจน จันได" และ "อ.ยักษ์" ครับ ทั้งเรื่องการศึกษา เกษตร ชีวิต ฯลฯ ชอบแนวคิดของเขามากๆ ครับ แล้วก็มีแนวคิดหลายอย่างที่ตรงกัน อารมณ์แบบ มีคนคิดเหมือนเราด้วยเหรอ ก็เลยมาดูว่าถ้าคนๆหนึ่งจะอยู่ได้ต้องมีอะไรบ้าง "ปัจจัยสี่" นั่นเอง เรื่องง่ายๆธรรมดามากๆ การเกษตรก็เลยผุดเข้ามาเองโดยอัตโนมัติ และด้วยความที่ชอบธรรมชาติอยู่แล้วเลยทำให้มีความสุขกับการทำงาน ชอบทำงานที่ไม่อยู่เฉยๆ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ชอบอยู่กับธรรมชาติ ชอบทำงาน outdoor รู้สึกนั่งเรียนทั้งวันมันผิดธรรมชาติ |
 |
|
|
ที่บอกว่าชอบเกษตรไม่ได้หมายถึงชอบแบบคลั่งไคล้เหมือนพวกที่จำชื่อต้นไม้ได้ทุกต้น แต่ชอบวิถีชีวิต การใช้ชีวิตแบบง่ายๆ ซึ่งก็แปลกที่โรงเรียนทั่วไปไม่ได้สอนสิ่งเหล่านี้เลย หลายคนจำตารางธาตุได้แต่ปลูกต้นไม้ทำนาไม่เป็น มานั่งคิดเล่นๆ ก็ตลกดี |
|
ก็เลยเป็นที่มาให้ลงมือทำเกษตร จริงๆไม่อยากให้เรียกว่าการเกษตรเพราะคนจะนึกถึงภาพที่เป็นร้อยไร่ มีเครื่องจักร มีโกดังสินค้าใหญ่โต มีการค้าขายเป็นธุรกิจ เพราะที่ทำไม่ใช่แบบนั้น เราทำเหมือนคนสมัยก่อน ปลูกที่กิน กินที่ปลูก เหลือก็แจก แจกหมดค่อยขาย จริงๆ ไม่อยากให้เรียกว่าการเกษตร เพราะมันไม่ใช่การเกษตร มันคือ "วิถีชีวิต" |
|
ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยครับ ต้องทำอันนี้ด้วย เรียนด้วย ขับรถไปๆมาๆ แต่มันสนุกที่ได้ทำครับ เพราะเราได้ทำในสิ่งที่รัก มันเหนื่อยแต่มันสะใจ รู้สึกเราเสียแรงเสียเวลาไปกับสิ่งที่คุ้มค่า |
|
จัดสรรพื้นที่ในการเพาะปลูกอย่างไร นอกจากปลูกพืช ผัก เลี้ยงสัตว์ด้วยไหม |
|
ปลูกแบบอินทรีย์ครับ ใช้ "โคก หนอง นา โมเดล" เป็นต้นแบบ คือทำเท่าที่เราทำไหว มีเท่าไรทำเท่านั้น ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง และปลูกไม้ ๕ ระดับ สัตว์ที่เลี้ยงมี ปลา ไก่ แล้วก็ไส้เดือนครับ เลี้ยงอะไรมากไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ตลอด ไม่มีคนดูแลครับ ถ้าช่วงปิดเทอมก็จะอยู่ที่นั่นเลย ส่วนช่วงเปิดเทอมก็จะไปๆมาๆ อาทิตย์ละ ๒ - ๓ วันครับ |
|
แบ่งเวลาเรียนกับการทำงานอย่างไร |
|
ก็ต้องแบ่งเวลาดีๆ ครับ แล้วก็ต้องวางแผนให้ดีมากๆ เพราะถ้าเราวางแผนดี เราจะประหยัดทั้งเงิน ประหยัดทั้งเวลา แล้วก็ได้ทำทั้ง ๒ อย่าง ไม่เสียการเรียน ไม่เสียเรื่องงาน . เรียน "GSSE" ที่ ธรรมศาสตร์ครับ เป็นหลักสูตรอินเตอร์ คร่าวๆ คือเรียนเกี่ยวกับการทำธุรกิจมาแก้ไขปัญหาสังคมครับ คือใช้ธุรกิจเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ไม่มีเรียนเกี่ยวกับการเกษตรเลยครับ ที่เรียนคือพวกสังคมศาสตร์ เช่น ปรัชญา มานุษวิทยา รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บริหาร ฯลฯ จะเรียนค่อนข้างกว้างและก็มีวิชาแปลกๆที่ไม่เคยเจอครับ แต่สามารถนำมาประยุกต์ต่อยอดกับการเกษตรได้สบายครับ เหมือนเป็นจุดประสงค์ของคณะอยู่แล้ว และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เลือกเรียนคณะนี้ครับ |
 |
|
|
 |
|
กลับมาที่สวนเกษตรอินทรีย์ ... เส้นทางของผลผลิตที่ได้ไปไหนต่อ
ผลผลิตที่ได้ก็กินเองกับแจกครับ ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกผักผลไม้ ยังไม่เคยขายเลยครับ กินเองบ้าง แจกคนโน้นคนนี้บ้าง แป๊ปเดียวก็หมดครับ ที่กำลังจะเริ่มขายคือมูลไส้เดือนครับ... ผู้ปกครองท่านใดสนใจเตรียมซื้อได้ที่ตลาดเรือนแก้วทุกวันอังคารนะครับ (แอบโฆษณา ^_^)
การลงทุน ลงแรง มีการคิดต้นทุน กำไร ด้วยไหม ทำมาได้กี่ปีแล้ว
คิดทุกบาททุกสตางค์ครับ ถึงบางอย่างเราจะได้มาฟรีแต่ก็จดไว้ว่าถ้าต้องจ่ายเองจะเสียเท่าไร เวลาเรากลับมาดูจะได้คำนวณต้นทุนได้ถูก ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดว่าที่ทำไปคุ้มกับที่ลงทุนไปหรือเปล่า แต่จริงๆ ก็แทบไม่ได้ลงทุนอะไรเลยครับ ถ้าเทียบกับคนอื่นถือว่าน้อยมากๆ ถ้านับตั้งแต่เริ่มทำเลย คือยังไม่มีอะไรเลย เป็นที่โล่งๆ ก็ทำมาประมาณปีครึ่งครับ
|
|
|
|
ภาพในใจเราอีก ๓ - ๕ ปีข้างหน้าเป็นอย่างไรและตั้งเป้าหมายอย่างไร |
|
เวลาผมทำอะไรจะชอบคิดเป็นภาพครับ เป็นตั้งแต่เด็กแล้วครับ อย่างเช่น ตอนยังเป็นที่โล่งๆ เราก็เดินดูแล้วก็นึกภาพเลยว่าอะไรจะอยู่ตรงไหน ตรงนี้จะทำอะไร ตรงโน้นจะปลูกอะไร หน้าตาจะออกมาประมาณไหน แล้วก็แปลกมากที่พอทำแล้วมันออกมาใกล้เคียงกับภาพที่นึกไว้มาก แทบจะเหมือนเลย ภาพในอนาคตก็คิดว่าจะขยายให้เต็มพื้นที่ครับเพราะตอนนี้ยังไม่เต็ม แล้วก็คิดไว้ว่าอาจจะเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เล็กๆ ให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษาครับ อีกอย่างที่อยากทำคือ อยากทำให้ดูเป็นตัวอย่าง อยากให้เกษตรกรและคนทั่วไปเห็นว่า "เกษตรอินทรีย์" และ "เศรษฐกิจพอเพียง" ทำได้จริง บางคนบอกมีแต่คนรวยเท่านั้นที่ทำได้ ผมว่าไม่จริงครับ อยากให้ลองศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งก่อน คนจนก็ทำได้ครับ เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่มันอยู่ที่ "ความคิด" และ "ความอดทน" ครับ
เป็นกำลังใจให้บิ้วท์เดินทางไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้นะคะ คงไม่มีอะไรสุขไปกว่าการได้ทำในสิ่งที่รัก แม้ระหว่างทางจะพบเจอ อุปสรรคปัญหาแต่เชื่อว่าบิ้วท์จะผ่านไปได้แน่นอน
|
|
|